สมัยรัชกาลที่ ๔ มีการเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น ในปี ๒๓๙๘ โปรดให้ทำสนธิสัญญาทางการทูตและการค้ากับประเทศอังกฤษ เรียกว่า สนธิสัญญาเบาริง ซึ่งต่อมาประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับอีกหลายประเทศ อันเป็นการเปิดประเทศอย่างกว้างขวางมากขึ้น
เมื่อชาวตะวันตกติดต่อค้าขายกับไทยมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ได้มีความพยายามที่จะขอจัดตั้งธนาคารกลางขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง เพื่อสิทธิในการออกธนบัตรซึ่งให้ผลประโยชน์ตอบแทนที่งดงาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะฝ่ายไทยเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านั้นคิดแต่จะเอาผลประโยชน์ฝ่ายเดียว ทำให้ประเทศไทยเห็นความสำคัญของการมีธนาคารกลางของไทย เพื่อเป็นสื่อกลางในทางการค้าและทางเศรษฐกิจ แต่โครงการก่อตั้งธนาคารกลางก็ได้หยุดชะงักไปเพราะเวลานั้นยังขาดประสบการณ์และบุคคลากรที่มีความรู้
ความสนใจที่จะจัดตั้งธนาคารกลางได้มีขึ้นอีกครั้งภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ สืบเนื่องจากการเสนอร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของคณะราษฎรที่นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เป็นผู้ร่าง ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดตั้งธนาคารชาติ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการดำเนินการเศรษฐกิจของประเทศ ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงประกาศปิดสภา
ผู้แทนราษฎร
ภายหลังเมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เข้ายึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงมีการสนับสนุนให้มีธนาคารชาติขึ้นอีก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้นำเรื่องเข้าหารือกับ นายเจมส์ แบกซ์เตอร์ ที่ปรึกษาการคลังในขณะนั้น ซึ่งให้ความเห็นว่า ยังไม่สมควรแก่เวลาที่จะจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีผู้รู้ผู้ชำนาญทางด้านการธนาคาร ไม่มีทุน และยังไม่มีระบบธนาคารพาณิชย์ของคนไทยด้วย
รัฐบาลได้ผลักดันเรื่องการตั้งธนาคารกลางอีกครั้งหนึ่งในปี ๒๔๗๘ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารชาติ พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งหลวงวรนิติปรีชาเป็นผู้ร่างขึ้น เสนอให้ควบรวมบริษัทแบ๊งค์สยามกัมาจล ทุนจำกัด ให้เป็นธนาคารชาติ พระราชบัญญัติดังกล่าวมีเพียง ๘ มาตรา ซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางในเวลานั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัตินี้ยังขาดความรอบคอบและรายละเอียดยังไม่ชัดเจน
ต่อมาเมื่อ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อได้รับตำแหน่งแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ได้รื้อฟื้นเรื่องการจัดตั้งธนาคารชาติขึ้น ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย อธิบดีกรมศุลกากรย้ายมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของกระทรวงการคลัง ซึ่งแต่เดิมจะใช้ที่ปรึกษาชาวต่างชาติทั้งสิ้น ในครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้พยายามทำความเข้าใจกับที่ปรึกษาฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงการคลัง ให้เข้าใจถึงความจำเป็นและเจตนารมณ์ของทางการ ซึ่งในที่สุดก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีในการช่วยร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติไทยขึ้น นับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การตั้งธนาคารกลางของประเทศไทยในที่สุด
ในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารชาติไทยนั้น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ที่ปรึกษากระทรวงการคลังฝ่ายไทยรับผิดชอบในการร่างกฎหมายจัดตั้งธนาคารชาติต่อจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว ในที่สุดก็ได้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเตรียมการจัดตั้งธนาคารชาติไทยต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแล้ว ให้เปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติเป็น ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทย เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้วได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ วัตถุประสงค์ประการหนึ่งของการจัดตั้งสำนักงานธนาคารชาติไทยก็เพื่อเตรียมพนักงานสำหรับการทำงานในธุรกิจธนาคารกลาง และทำหน้าที่บริหารเงินกู้ของรัฐบาล
สำนักงานธนาคารชาติไทยได้เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ต่อมาในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นวันชาติในสมัยนั้น จึงได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ สำนักงานธนาคารชาติไทยดำเนินงานได้เพียงปีเศษก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นนำกำลังทหารเข้ามายังประเทศไทยในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้เสนอให้รัฐบาลไทยจัดตั้งธนาคารกลางขึ้น โดยมีที่ปรึกษาและหัวหน้างานต่าง ๆ เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลไทยไม่อาจยอมให้เป็นเช่นนั้นได้ จึงมอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อเปลี่ยนฐานะของสำนักงานธนาคารชาติไทยให้เป็นธนาคารกลาง และให้ประกาศใช้โดยเร็วที่สุด พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ต่อมาได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญและในวันต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการ ณ อาคารที่ทำการเดิมของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จำกัด ถนนสี่พระยา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ทรงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการพระองค์แรก ต่อมาได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ ณ วังบางขุนพรหมตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ แล้วย้ายมาอาคารสำนักงานใหญ่ที่สร้างขึ้นในบริเวณวังบางขุนพรหมเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และในปี ๒๕๕๐ สำนักงานใหญ่ได้ย้ายมาอยู่ ณ อาคารสำนักงานใหญ่หลังใหม่ ที่ก่อสร้างขึ้นในบริเวณเชื่อมต่อระหว่างวังบางขุนพรหมกับวังเทวะเวสม์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น